เวิลด์แบงก์ชี้ “จุดอ่อน” ประเทศไทย ทำให้ล้าหลังกว่าใครในอาเซียน

05 เมษายน 2567
เวิลด์แบงก์ชี้ “จุดอ่อน” ประเทศไทย ทำให้ล้าหลังกว่าใครในอาเซียน

แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 นี้ จะมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัวเพียง 1.9% แต่ก็ถือว่ายังคงอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ "ธนาคารโลก"เผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวที่อัตราเพียง 2.8% นับว่าโตช้ากว่าทุกประเทศในอาเซียน ยกเว้นเมียนมา

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดเผย รายงานเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and the Pacific Economic) ฉบับอัปเดตเดือนเมษายน รวมทั้ง รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาค และ ความยากจนของประเทศไทย (Macro and Poverty Outlook - MPO) เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาน่าสนใจ โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ที่เวิลด์แบงก์ปรับลดตัวเลขประมาณการณ์การเติบโตของจีดีพีในปีนี้ มาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมประเมินไว้ที่ 3.2% นอกจากนี้ ยังชี้ถึง “จุดอ่อน” ของประเทศไทยที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวช้าที่สุดเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆในอาเซียน

รายงานอัปเดตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับเดือนเมษายน 2567 หรือ East Asia and the Pacific Economic Update April 2024 จัดทำขึ้นปีละ 2 ครั้ง เพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งระดับภูมิภาคและรายประเทศ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์และให้คำอธิบายว่าอะไรคือปัจจัยที่สามารถส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในระยะยาว

ส่วนรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคและความยากจน (Macro and Poverty Outlook - MPO) ของประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น ยังตามหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเติบโตในอัตราที่น่าผิดหวัง 1.9% ในปีที่ผ่านมา (2566) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่อ่อนแอ และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า

“การฟื้นตัวของประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซียและฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีความท้าทายจากภายนอกและภายใน อุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอส่งผลกระทบต่อการผลิต ในขณะที่งบประมาณที่ล่าช้ามีผลให้การลงทุนภาครัฐชะลอตัว” ส่วนหนึ่งของรายงานระบุ และชี้ให้เห็นจุดอ่อนของไทย

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในปี 2567 นี้ โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคของภาคเอกชน และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงสูงต่ออุปสงค์ภายในประเทศหากโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ Digital Wallet (ที่เป็นโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ 286 ดอลลาร์สหรัฐให้คนไทยจำนวน 50 ล้านคน) เปิดตัว มาตรการนี้มีศักยภาพในการกระตุ้นการเติบโตของไทยราว 1% ในระยะสั้น แต่จะส่งผลให้ไทยมีภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

รายงานของเวิลด์แบงก์ระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยปีนี้ (2567) จะมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังอ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า (ในรายงานฉบับเดือนธ.ค.2566) เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกและการลงทุนภาครัฐลดลง ทำให้เวิลด์แบงก์ปรับลดตัวเลขประมาณการณ์การเติบโตของจีดีพีไทยในปีนี้ ลงมาจากเดิมคาดไว้ว่าจะโต 3.2% เหลือเพียง 2.8% เท่านั้น

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยยังคงติดลบเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันและถือว่าลดลงเร็วสุดในอาเซียน อันเนื่องมาจากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ลดลง รวมถึงมาตรการอุดหนุนด้านพลังงาน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว คาดว่าจะเป็นสองหัวจักรสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า (2568) ที่คาดว่าจะโต 3.0%

 

ส่วนหนึ่งของรายงานระบุว่า การใช้มาตรการทางการคลังเพื่อจัดการกับราคาพลังงานที่สูง แม้จะเป็นตัวแปรที่สนับสนุนการฟื้นตัว แต่ก็ทำให้การปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล หรือ (fiscal consolidation) ช้าลงเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจึงยังอยู่ในระดับต่ำสุดในอาเซียน เพราะส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอุดหนุนพลังงานอย่างต่อเนื่องและราคาพลังงานโลกที่ลดลง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลาง ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการรับมือกับความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในด้านต่างๆ ต่อไปนี้ คือ

การรับมือกับสังคมประชากรสูงวัย

การบริหารจัดการความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

และความจำเป็นในการสร้าง “กันชน” นโยบายใหม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือผลกระทบจากภายนอก(shock) ในอนาคต

ศักยภาพที่สำคัญของไทยอยู่ที่การดำเนินการปฏิรูปโครงสร้าง และการระดมเงินทุนภาคเอกชนเพื่อการเติบโตของสังคมคาร์บอนต่ำ ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการลดความยากจนของสังคมไทย

เปรียบเทียบศักยภาพของไทยกับประเทศอื่นๆในอาเซียน

การฟื้นตัวของไทย ช้ากว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากการผลิตและการลงทุนภาครัฐยังคงอ่อนแอ แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะแข็งแกร่งก็ตามที ภาพรวมในปี 2566 เศรษฐกิจของไทยขยายตัวเพียง 1.9% ลดลงจาก 2.5% ในปีก่อนหน้า (2565) ถือว่าไทยเติบโต “น้อยที่สุด” ในอาเซียน เทียบการเติบโตของ GDP ปี 2566 ระหว่างไทยกับบางประเทศในอาเซียนได้ ดังนี้

ไทย 1.9 %

อินโดนีเซีย 5.0 %

มาเลเซีย 3.7 %

ฟิลิปปินส์ 5.6 %

เวียดนาม 5.0 %

กัมพูชา 5.4 %

ลาว 3.7 %

เมียนมา 4.0 %

ส่วนคาดการณ์ปี 2567 แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น แต่ก็ยังตามหลังประเทศอื่นๆอยู่ดี (ยกเว้นเมียนมา)  ดังนี้

ไทย 2.8 %

อินโดนีเซีย 4.9 %

มาเลเซีย 4.3 %

ฟิลิปปินส์ 5.8 %

เวียดนาม 5.5 %

กัมพูชา 5.8 %

ลาว 4.0 %

เมียนมา 1.3 %

ค่าเงินบาทของไทยยังคงทรงตัวเนื่องจากบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล แม้เงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง ในเดือนธันวาคม บัญชีเดินสะพัดของไทยกลับมาเป็นบวก โดยแตะ 5% ของ GDP โดยไตรมาส 4 มีการเกินดุล 1.2% ของ GDP

การที่สถานะของดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น เป็นผลมาจากการเกินดุลในการค้าสินค้า อันเป็นผลมาจากการนำเข้าที่ลดลง นอกจากนี้ ยังได้ปัจจัยหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มีเงินไหลออกสุทธิจากพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 37,000 ล้านบาท ถือเป็นการไหลออกที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 4 เดือน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการไหลออกจากตลาดตราสารทุน

อีกตัวเลขที่เป็นจุดอ่อนที่ต้องเฝ้าระวังคือ หนี้ครัวเรือนของไทยยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 90.6% ของ GDP ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน ในไตรมาสที่ 1/2566

การบริโภคต่อหัวของครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้น 8.1% ระหว่างปี 2564 ถึง 2565 โดยในกลุ่ม 40% ล่างสุดมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วยิ่งขึ้น อัตราความยากจนของประเทศไทยลดลงจาก 6.3% เป็น 5.3%

อย่างไรก็ตาม การลดลงนี้แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราความยากจนลดลงมากที่สุด 2.4% ในขณะที่กรุงเทพฯ ประสบปัญหาความยากจนเพิ่มขึ้น


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.